ข้อมูลเกี่ยวกับเรา

ความเป็นมาของโครงการ

           สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่ อ.สุไหงโก-ลก เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างเมืองรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย กับ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ของประเทศไทย โดยเปิดใช้เส้นทางมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 แต่ในปัจจุบันสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่ อ.สุไหงโก-ลก มีปริมาณจราจรค่อนข้างสูง เนื่องจากด่านชายแดน สุไหงโก-ลก เป็นด่านที่มีมูลค่าการค้าชายแดนเป็นอันดับ 3 ในภาคใต้ รองจากด่านชายแดนสะเดา และด่านชายแดนปาดังเบซาร์ ดังนั้น จึงต้องมีการพิจารณาก่อสร้างสะพานคู่ขนาน เพื่อให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวและรถขนส่งสินค้าที่เดินทางเข้าออกด่านเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

           ประเทศไทยและประเทศมาเลเซียมีมติเห็นชอบร่วมกันให้มีการก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก ภายใต้กรอบความร่วมมือว่าด้วยยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย - มาเลเซีย (Thailand – Malaysia Committee on Joint Development Strategy for border areas : JDS) แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (Indonesia – Malaysia Thailand Growth Triangle : IMT-GT) และแผนงานพัฒนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

...
           แต่จากการตรวจสอบพื้นที่โครงการในฝั่งประเทศไทย พบว่า มีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (RAMSAR) อยู่ในระยะ 2 กิโลเมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พรุโต๊ะแดง) และแหล่งโบราณสถานในระยะ 1 กิโลเมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทาง โครงการ ได้แก่ แหล่งโบราณสถานริมน้ำโก-ลก (อยู่ระหว่างรอพิจารณาขึ้นทะเบียน) และแหล่งเตาเผาโบราณริมน้ำสุไหงโก-ลก (อยู่ระหว่างรอพิจารณาขึ้นทะเบียน) ดังนั้น โครงการจึงเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เพื่อให้การพัฒนาโครงการเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและประชาชน ที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการน้อยที่สุด

           ดังนั้น กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ได้แก่ บริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ซิตี้ แพลน โปรเฟสชันนอล จำกัด ให้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม โครงการสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่ อ.สุไหงโก-ลก ในครั้งนี้

วัตถุประสงค์ของโครงการ




      1) เพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงการ และแผนการดำเนินโครงการ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ


      2) เพื่อศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์สภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และดำเนินการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นเนื่องมาจาก การพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งเสนอแนะมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกัน แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการส่งเสริมคุณภาพ สิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและ มีประสิทธิภาพ


      3) เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการ รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์กรเอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง


Link เว็บไซต์หน่วยงาน

ข่าวสารและข้อมูล

ข้อมูลล่าสุด

2024-02-15

ขอเชิญเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ตามที่กรมทางหลวงได้ดำเนินงานศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่ อ.สุไหงโก-ลก เพื่อให้เกิดการรับทราบข้อมูลข่าวสารของโครงการ และเปิดโอกาสให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นต่อกลุ่มเป้าหมายเพื่อนำมาพิจารณากำหนดแนวทางการศึกษาของโครงการ จึงได้ดำเนินการจัดประชุมเพื่อหารือแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 7 มีนาคม 2567 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมปรีชาราชสีห์ ชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลก ขึ้น จึงขอเรียนเชิญท่านที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ผ่านทางช่องทางออนไลน์ หรือทางโทรศัพท์หมายเลข 0 2003 5230 (คุณนรากร ต่อ 107) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2567

อ่านเพิ่มเติม